เชิงอรรถรถ 14 ตุลา

เก็บรวบรวม คำศัพท์ วลี ประโยค ที่เกี่ยวข้องกับ “เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516” พร้อมคำอธิบายความหมาย โดยย่อเพื่อสะดวกต่อการตรวจค้น ศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติม

14 ตุลาคม

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 วันมหาวิปโยค หรือวันมหาปิติ เป็นเหตุการณ์การปราบปราม ผู้ประท้วง บริเวณพระบรมมหาราชวังและ ถนนราชดำเนินอย่างรุนแรง โดยรัฐบาล นายกรัฐมนตรี จอมพลถนอม กิตติขจร จนมีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และผู้สูญหาย อีกเป็นจำนวนมาก

2475

ปีที่ 151 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นปีที่ 8 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ปีนี้เป็นปีที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของ ประเทศไทย เป็นปีที่มีการยกเลิก ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยคณะราษฎร ในวันที่ 24 มิถุนายน

6 ตุลา

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 หรือในภาษาอังกฤษเรียกชื่อเชิงพรรณนาว่า การสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตำรวจใช้อาวุธสงครามปราบปรามการประท้วง ตามด้วยกลุ่มฝ่ายขวาที่ลงประชาทัณฑ์ ในลักษณะร่วมมือกับตำรวจ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ สถิติพบผู้เสียชีวิต 45 คนที่มีการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตมีทั้งถูกยิงด้วยอาวุธปืน ถูกทุบตี และถูกเผา แต่สถิติไม่เป็นทางการ จากมูลนิธิป๋วยคาดว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน

กรรมาชน

วง “กรรมาชน” เป็นวงดนตรีเพื่อชีวิต ที่ก่อเกิดจากนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ในช่วง เหตุการณ์ 14 ตุลา มีบทบาทต่อ การเคลื่อนไหวทางการเมืองในขณะนั้นอย่างมาก มีการแต่งเพลง เพลงแสง อันเกิดจาก กรณีลอบสังหาร “แสง รุ่งนิรันดร์กุล” ผู้นำนักศึกษา คนหนึ่งในสมัยนั้น กรรมาชนได้มีบทบาทเรื่อยมา จนกระทั่งถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็ต้องกระจัดกระจายกันออกไป

คนเดือนตุลา

เป็นชื่อเรียกกลุ่มบุคคลที่เข้าร่วมชุมนุมในเหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา ซึ่งส่วนมากขณะนั้นเป็นนักศึกษา ปัจจุบันกลุ่มคนเดือนตุลาบางส่วนก็เข้าสู่แวดวงการ เมืองและสังคม

คณาธิปไตย

เป็นการปกครองบนโครงสร้างอำนาจที่บิดเบี้ยว อำนาจกระจุกอยู่กลุ่มบุคคลส่วนน้อยอย่างชะงัด บุคคลเหล่านี้อาจเป็นชนชั้นเจ้า ชนชั้นเศรษฐี ผู้มีการศึกษา ผู้นำฝ่ายการเมือง หรือฝ่ายทหาร รัฐเช่นว่านี้ มักถูกควบคุมโดยตระกูลมีชื่อเสียง ไม่กี่ตระกูล ซึ่งส่งผ่านอิทธิพลของตระกูลจากรุ่นสู่รุ่น อย่างไรก็ตาม การสืบทอดอำนาจในระบอบ คณาธิปไตย อาจไม่จำเป็นต้องสืบทอดอำนาจ ผ่านทางสายเลือดเสมอไป

ธงดำ

การชักธงสีดำขึ้นครึ่งเสานั้น เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อไว้อาลัยแก่กระบวนการยุติธรรมภายในประเทศ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ธงสีดำครึ่งเสาเคยถูกหยิบยกมาใช้ในการต่อสู้เชิง สัญลักษณ์มาก่อนแล้วในประเทศไทย เช่น ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ป.ป.ช.

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของ วุฒิสภา ผู้ได้รับการเสนอชื่อและได้รับเลือกเป็น กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติต้องเป็นผู้ซึ่งมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ป.ป.ท.

จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติมาตรการ ของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ. 2551 มีบทบาทหน้าที่เป็นหน่วยงานสนับสนุน อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน ของ คณะกรรมการ ป.ป.ท.

ป.ป.ป.

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบในวงราชการ หรือชื่อย่อ ป.ป.ป. จัดตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาล นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2518 โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติป้องกัน และปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ในวงราชการ พ.ศ. 2518 เหตุผลในการจัดตั้ง ป.ป.ป. สืบเนื่องมาจากขบวนการนักศึกษาและประชาชน กดดันให้รัฐบาลยึดทรัพย์สินของผู้นำรัฐบาล ที่ถูกโค่นล้มไปในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามทุจริต ที่แพร่ระบาดมากในวงราชการ

ปรีดี พนมยงค์

ศาสตราจารย์ปรีดี พนมยงค์ หรือ อำมาตย์ตรีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (11 พฤษภาคม 2443 – 2 พฤษภาคม 2526) เป็นนักกฎหมาย อาจารย์ นักกิจกรรม นักการเมือง และนักการทูตชาวไทย ผู้ได้รับการยกย่องเกียรติคุณอย่างสูง เป็นรัฐบุรุษอาวุโส ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 7 และรัฐมนตรีหลายกระทรวง หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ประศาสน์การ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารชาติไทย (ปัจจุบันคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย)

พฤษภาทมิฬ

เป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองที่มี พล.อ. สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ระหว่างวันที่ 17-24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นการรัฐประหาร รัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำไปสู่เหตุการณ์ปราบปรามและปะทะกันระหว่าง เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกับประชาชนผู้ชุมนุม มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก (พลเอกสุจินดาแถลงว่ามีผู้เสียชีวิต 44 คน บาดเจ็บ 1,728 คน) และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ม็อบ 63

8 ตุลาคม 2563 ตัวแทนจากกลุ่มองค์กรหลากหลาย เช่น แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มประชาชนปลดแอก, เยาวชนปลดแอก, นักเรียนเลว เป็นต้น ได้ประกาศหลอมรวมเป็น ‘คณะราษฎร’ ทำหน้าที่ขององค์กรนำในการเคลื่อนไหวในการชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม 2563 โดยมีข้อเรียกร้องสามข้อ กล่าวโดยสรุปคือ ให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง, เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณา แก้ไขรัฐธรรมนูญ, ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ม็อบมือถือ

ในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางในเขตตัวเมือง เป็นนักธุรกิจ หรือ บุคคลวัยทำงาน ซึ่งแตกต่างจากเหตุการณ์ 14 ตุลา ในอดีต ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นนิสิต นักศึกษา ประกอบกับเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ ที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทย และใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการติดต่อสื่อสาร ในครั้งนี้ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬนี้ จึงได้ชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า 'ม็อบมือถือ'

รัฐธรรมนูญ 2517

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 ของประเทศไทย ซึ่งร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ภายหลังจากจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเหตุการณ์ วันมหาวิปโยค เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เพื่อใช้แทน ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ใช้บังคับอยู่ก่อนหน้านั้น โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2517 โดยมีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ในฐานะประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

รัฐประหาร

รัฐประหารในประเทศไทย เป็นการถอดถอนรัฐบาล ด้วยวิถีทางนอกกฎหมาย ซึ่งมักเป็นการใช้กำลังทหารเพื่อโค่นรัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้ง หรือ แต่งตั้ง หรือแม้แต่รัฐบาลชุดที่หัวหน้าคณะรัฐประหารเอง เป็นผู้นำก็มี

รสช.

คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. (National Peace Keeping Council - NPKC) เป็นคณะนายทหารที่ก่อการรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำโดย พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พลเอก สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก, พลเอก อิสระพงศ์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารบก และ พลอากาศเอก เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ

สันติประชาธรรม

การแก้ปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรง ผู้ที่คิดค้นคำนี้ขึ้นมาเป็นถึงบุคคลสำคัญของโลก ในปี 2016 (โดย UNESCO องค์การสหประชาชาติ) นั่นคือ ศ. ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์

สามประสาน

การลุกขึ้นจับมือกันของขบวนการนักศึกษา กรรมกร และ ชาวนา ตามคำขวัญ “สามประสาน” ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ และความเป็นธรรมทางสังคม

อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา

เป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นเพื่อ เป็นที่รำลึกถึงผู้เสียชีวิต เหตุการณ์ในวันที่ 14 - 16 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ตั้งอยู่เลขที่ 14/16 ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร บริเวณสี่แยกคอกวัว สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2544